พระพรหมภูมิปาโลรุ้ง รังสี
พระแผ่บุญบารมี มิ่งหล้า
ร่มรัฐทั่วปฐพี พูนสวัสดิ์
บรรเจิดพุทศาสน์จ้า จรัสแผ้วแผ่นสยาม
ประวัติความเป็นมา
สืบเนื่องจากปลายปี พ.ศ. ๒๕๐๙ คณะกรรมการส่งเสริมพระพุทธศาสนาวัฒนธรรมและประเพณีจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายบุรี พรหมลักขโณ เป็นประธาน ได้มีมติให้ก่อสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่บนยอดเขาภูสิงห์ด้านทิศใต้ เพื่อให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยึดเหนี่ยวจิตใจแก่ชาวจังหวัดกาฬสินธุ์และเป็นมิ่งมงคลแก่บ้านเมือง การก่อสร้าง พระพุทธรูปบนไหล่เขาภูสิงห์เป็นผลงานอันยิ่งใหญ่ เพราะได้รับความร่วมมือศรัทธาจากคณะสงฆ์ประชาชนในจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดใกล้เคียงเป็นอย่างดี โดยมีพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๑ ตามคำแนะนำของท่านโหราพราหมณาจารย์ และได้รับความเมตตาจากพระคุณเจ้า เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส (วัดสามปลื้ม) ได้ผูกดวงชะตาขององค์พระพุทธปฏิมาที่ก่อสร้างซึ่งตรงกับภูมิปาโลฤกษ์ และต่อมาได้ใช้เป็นคำต่อท้ายนามองค์
พระพุทธปฏิมากรและเมื่อสมาสเข้ากับคำว่า “พรหม” อันมีความหมายถึงพรหมวิหารธรรม เป็น “พระพรหมภูมิปาโล”
รวมความหมายว่า “พระผู้ยิ่งใหญ่และเปี่ยมด้วยพรหมวิหารธรรม ที่คอยให้ความพิทักษ์คุ้มครองสถานทั่วปริมณฑล”นั่นเอง
ในงานสมโภชและพุทธาภิเษกองค์พระพุทธปฏิมากร ฯพณฯ พลเอกประภาส จารุเสถียร รองนายกรัฐมนตรี และ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้นเป็นประธานพิธีเปิดงานและประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ยังเบื้อง
พระนลาฏองค์พระพุทธปฏิมากร เพื่อเพิ่มพูนความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระพุทธปฏิมากร
ปัจจุบันนี้ พระพรหมภูมิปาโล อยู่ในความดูแลของคณะสงฆ์และส่วนราชการอำเภอสหัสขันธ์ คณะสงฆ์กำหนด
ให้สถานที่แห่งนี้เป็นที่พำนักสงฆ์นามว่า “ ที่พำนักสงฆ์พุทธาวาส”โดยมี พระครูสิริพัฒนนิเทศก์ รองเจ้าคณะอำเภอสหัสขันธ์เจ้าอาวาสวัดไตรภูมิ เป็นประธานสงฆ์ เป็นศูนย์เผยแผ่ธรรมและสถาน ที่พักผ่อนจิตใจชมธรรมชาติ เพราะเมื่อได้ขึ้นมา
บนที่พำนักสงฆ์พุทธาวาส จะสามารถมองเป็นทิวทัศน์ได้รอบด้าน คือด้านทิศใต้จะมองเห็นภูมิภาพอันสวยงามเหนือทะเลสาบเขื่อนชลประทานลำปาว และสภาพบ้านเมืองของเทศบาลตำบลโนนบุรี ด้านทิศตะวันออกจะมองเป็นทิวทัศน์อันงดงามของ ภูปอ ภูค่าว ภูเป้ง และภูกุ้มข้าว ประหนึ่งสวนพฤกษาธรรมชาติ ที่สร้างไว้อย่างงดงามด้านทิศตะวันตก จะมองเป็นทิวเขาคันโทในเขตอำเภอท่าคันโทที่อยู่ไกลสุดขอบฟ้า และเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกดินที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งการเดินทางขึ้นบนยอดเขาสามารถเดินทางได้ ๒ ทาง คือบันไดเดินเท้าจำนวน 299 ขั้น และถนนลาดยางระยะทาง ๓ กิโลเมตร ในแต่ละปีจะมีงานประเพณีทำบุญตักบาตรเทโวโรหะณฯ ซึ่งเป็นงานระดับจังหวัดกาฬสินธุ์ มีพุทธศาสนิกชนทั้งในและต่างจังหวัดทั่วทุกสารทิศเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก


|